ประวัติเมืองคนดี

                     



  สุราษฎร์ธานี เป็นดินแดนที่มีอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในคาบสมุทรภาคใต้ของไทย ปรากฏเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มาช้านาน มีร่องรอยหลักฐานการอยู่อาศัยของผู้คน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และต่อเนื่องกันมาจนเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ เป็นดินแดนที่มีพัฒนาการการตั้งบ้านเมืองเป็นปึกแผ่น เนื่องเพราะความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม จึงเป็นแหล่งที่ผู้คนต่างชาติจากที่ต่างๆ เข้ามาพำนักอาศัย ทำให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม และมีพัฒนาการเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเองต่อเนื่องกันมาจนเป็นสังคมในปัจจุบัน

  สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หมายถึง ช่วงเวลาที่เริ่มปรากฏร่องรอยของผู้คนบนผืนแผ่นดินที่ปัจจุบันเป็นจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นช่วงสมัยที่ยังไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร แต่มีร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดี เป็นโบราณวัตถุ เช่น โครงกระดูก เครื่องมือที่ทำจากหิน เครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น

  ในช่วงเวลาประมาณต้นพุทธกาล บรรพชนรุ่นแรกๆ ของชาวสุราษฎร์ธานีคงได้ร่อนเร่พเนจรไปตามป่าเขา แม่น้ำลำธาร และสองฝั่งทะเล พำนักอาศัยอยู่ในบริเวณถ้ำ และเพิงผาบนภูเขาหินปูน ที่มีอยู่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณคาบสมุทร ผู้คนเหล่านั้นดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ยังชีพด้วยการเข้าป่า ล่าสัตว์ หาปลา เก็บผัก และผลไม้เป็นอาหาร รู้จักประดิษฐ์สิ่งของตามธรรมชาติมาเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น เก็บหินกรวดแม่น้ำมากะเทาะเป็นเครื่องมือหินอย่างง่ายๆ ต่อมาได้มีพัฒนาการก้าวหน้าเพิ่มขึ้น มีการขัดแต่งเครื่องมือหินเป็นเครื่องมือสำหรับใช้เฉพาะอย่าง เช่น สำหรับสับ ตัด และขวานหินขัดรูปแบบต่างๆ มีการทำเครื่องมือจากเขาสัตว์ และกระดูกสัตว์ รู้จักทำผ้าจากใบไม้ และเปลือกไม้ และทำเครื่องประดับจากหินและเปลือกหอย

  หลักฐานทางโบราณคดีในจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่แสดงร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แหล่งสำคัญที่พบ ได้แก่

ถ้ำเบื้องแบบ ตำบลบ้านทำเนียบ อำเภอคีรีรัฐนิคม ได้พบโครงกระดูกมนุษย์ กระดูก และฟันของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์ปีก เปลือกหอยชนิดต่างๆ ทั้งหอยบก หอยน้ำจืด หอยทะเล เมล็ดพืชป่าบางชนิด เศษภาชนะดินเผาประเภทหม้อก้นกลม และหม้อสามขา ภาชนะรูปร่างต่างๆ ลูกกระสุนดินเผา เครื่องมือหินกะเทาะหลายรูปแบบ เช่น สิ่ว ค้อน ทั่ง หินลับเครื่องมือ ขวานหินขัด หินทุบเปลือกไม้สำหรับทำผ้า และเครื่องประดับ กำไลหิน

ถ้าเขาชี้ชัน ตำบลคลองหิน อำเภอบ้านตาขุน ได้พบเครื่องมือหินกะเทาะ และภาชนะดินเผาประเภทหม้อก้นกลมลายเชือกทาบ

ถ้าปากอม ตำบลเขาพัง อำเภอบ้านตาขุน ได้พบชิ้นส่วนโครงกระดูก และฟันมนุษย์ เครื่องมือหินกะเทาะ และขวานหินขัด

แหล่งโบราณคดีทั้ง ๓ นี้ ได้มีการกำหนดอายุด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (ด้วยการนำตัวอย่างถ่านกระดูกสัตว์ และกระดูกมนุษย์ทดสอบด้วยวิธีเรดิโอคาร์บอน) ผลปรากฏว่ามีอายุประมาณ ๖,๕๐๐ - ๔,๗๐๐ ปีมาแล้ว และมีวัฒนธรรมอยู่ในยุคหินกลาง คือเป็นกลุ่มคนที่ใช้ถ้ำและเพิงผา เป็นที่อยู่อาศัย และเป็นที่ฝังศพ คนกลุ่มนี้ยังไม่รู้จักสร้างบ้านเรือนเป็นที่อยู่อาศัยกัน มีลักษณะความเป็นอยู่แบบสังคมนายพราน หรือสังคมเก็บของป่า ล่าสัตว์ (Hunting and Food Gathering Society) ที่มีพัฒนาการก้าวหน้าขึ้นแล้วจากวัฒนธรรมยุคหินเก่า กล่าวคือ มีวิวัฒนาการผลิตเครื่องมือหินประณีตขึ้น มีขนาดเล็กลง และมีรูปแบบหลากหลาย เหมาะกับการใช้งานเฉพาะอย่างเพิ่มขึ้น แต่ยังคงเป็นสังคมเก็บของป่าล่าสัตว์เหมือนยุคหินเก่่า สัตว์ที่ผู้คนเหล่านี้ล่ามาเป็นอาหาร ได้แก่ วัว ลิง หมูป่า กวาง กระจง กระรอก อ้น นก ไก่ป่า เต่า ตะพาบน้ำ ปลา ปูนา หอยน้ำจืด และหอยทะเลชนิดต่างๆ ส่วนพืชผักล้วนเป็นพืชป่าทั้งหมด ไม่พบหลักฐานการเพาะปลูก และมีการทำอาหารให้สุกโดยการปิ้ง ย่าง หรือเผา เพราะร่องรอยกระดูกสัตว์และเปลือกหอยมีรอยเผาไหม้จำนวนหนึ่ง การพบเปลือกหอยทะเลในถ้ำ แสดงให้เห็นว่ามีการติดต่อกับชุมชนที่อยู่ใกล้ทะเล หรือเดินทางไปมาได้ระหว่างฝั่งทะเลตะวันตก และทะเลตะวันออก ซึ่งเป็นปากน้ำลำคลองหลายสายที่ไหลจากป่าเขาตอนกลางลงสู่ทะเล

ร่องรอยความเป็นอยู่ของผู้คนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบอยู่ทั่วไปในบริเวณที่ปัจจุบันเป็นจังหวัดสุราษฎร์ธานี เช่น ได้พบเครื่องมือหิน ภาชนะดินเผา กระดูกสัตว์ และเปลือกหอยที่ถ้ำกาชี ถ้ำแก้ว ถ้ำเขาทะลุ ถ้ำพ่อตาแดงราม ถ้ำมะพร้าว ถ้ำพริก ถ้ำสิงขร ในบริเวณอำเภอคีรีรัฐนิคม พบโครงกระดูกมนุษย์ เศษภาชนะดินเผา และเครื่องมือหินที่ถ้ำเขา บ้านบางปรุ (อ่าวน้ำผึ้ง) พบกำไลเปลือกหอย กระดูก และฟันสัตว์ เศษภาชนะดินเผา ที่ถ้ำวรราม และถ้ำหินกร๊อกในบริเวณอำเภอพนม พบขวานหินขัดที่คลองท่าไม้แดง อำเภอไชยา และที่อำเภอบ้านตาขุน พบเครื่องมือหิน และเศษภาชนะดินเผาที่ต้นน้ำคลองแสง ควนหินเหล็กไฟ เขาหินตก ถ้ำแม่ยาย ถ้ำผึ้ง เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น